4 วิธีพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ

          การพัฒนาองค์กรจำเป็นต้องพัฒนาทั้งระบบ เพราะถ้าหากขาดการพัฒนาแม้แต่จุดใดจุดหนึ่ง ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้า หรือไม่มีประสิทธิภาพ หากจะเปรียบเทียบแล้ว องค์กรก็เปรียบเสมือนเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ หากเครื่องจักรกลเครื่องนั้นมีการบำรุงรักษาทั่วทั้งระบบ ไม่เว้นแม้แต่ฟันเฟืองชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก็จะทำให้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่เครื่องนั้นมีผลลัพธ์ที่ดี หรือผลผลิตเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ได้จำนวนตามที่ต้องการ และทันต่อเวลา หรือเรียกรวม ๆ ได้ว่าเกิดประสิทธิภาพ

          การพัฒนาองค์กร (Organization Development) หรือ OD เป็นเครื่องมือบริหารที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ยอมรับว่าเป็นแนวคิดและเทคนิคที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อที่จะนำไปใช้เปลี่ยนแปลง พัฒนา และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร หลังจากมีการสำรวจองค์กรแล้ว จึงมีการศึกษารายละเอียดหลักการของ OD เพื่อที่จะสามารถนำความรู้และเทคนิคที่ได้ไปใช้งานจริง ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

4 วิธีพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ

1. การวินิจฉัยองค์กร (Organization Diagnosis)

          หลังจากที่ผู้บริหาร ตระหนักถึงปัญหาที่องค์กรประสบอยู่ หรือมองเห็นโอกาสในการพัฒนาองค์กร ก็จะแต่งตั้งผู้ที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการพัฒนาองค์กร ซึ่งมักจะจัดตั้งเป็นทีมงานพัฒนาองค์กร เพื่อให้ทำการศึกษา ทำความเข้าใจ และอธิบายสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขและเสนอแนะวิธีการพัฒนาองค์กรในอนาคต

2. การกำหนดกลยุทธ์และวางแผนพัฒนาองค์กร (Establish OD Strategy And Implement Plan)

          ทีมงานพัฒนาองค์กรจะนำข้อมูลจากการวินิจฉัยองค์กร มากำหนดแผนพัฒนา โดยการเลือกเทคนิคและระดับในการพัฒนาองค์กร รวมถึงวางแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งจะต้องดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ระเบียบ และขั้นตอนโดยพิจารณาจากภาพรวมขององค์กร เพื่อให้แผนการปฏิบัติงานและบูรณาการเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อสร้างผลงานที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้

3. การดำเนินงานพัฒนาองค์กร (OD Intervention)

          การแทรกแซงการพัฒนาองค์กร จะเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จ หรือความล้มเหลวในการพัฒนาองค์กร โดยผู้ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำ OD จะนำแผนการพัฒนาองค์กรไปปฏิบัติ โดยวางแผนปฏิบัติงาน ตารางกิจกรรม และกำหนดตารางเวลา ผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน ตลอดจนพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด และไม่ได้เตรียมรับมือมาก่อน ดังนั้นผู้ทำการพัฒนาองค์กร จะต้องเปิดใจตื่นตัว และเตรียมพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา และไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น

4. การประเมินการพัฒนาองค์กร (OD Evaluation)

          การประเมินการพัฒนาองค์กร เป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งในการพัฒนาองค์กร ที่จะช่วยในให้การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการพัฒนาองค์กร ว่าสอดคล้องกับเป้าหมายและเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ตลอดจนผู้ดำเนินการ จะต้องแก้ไขและปรับปรุง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ขณะเดียวกันก็จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของทีมงานพัฒนาองค์กร หรือโดยทีมงานจะได้รับข้อมูล Feedback เพื่อปรับปรุงตนเองให้สามารถทำการพัฒนาองค์กรได้ดีขึ้นในอนาคต


          เราจะเห็นว่าการเรียนรู้และการทำความเข้าใจ ในกรอบความคิดและหลักการของความพอดีจะช่วยให้ผู้บริหาร ผู้จัดการ และพนักงานสามารถปฏิบัติงานที่ตนได้รับมอบหมาย ด้วยความเข้าใจทั้งในภาพปัจจุบันและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อองค์กรซึ่งจะส่งผลให้องค์กรสามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนมีการพัฒนาความก้าวหน้าองค์กรอย่างไม่หยุดยั้ง

 


References:

  • ณัฎฐพันธ์ เขจรนันทน์.  (2545).  กลยุทธการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์การ.  กรุงเทพฯ: เอ็กซเปอร์เน็ท จำกัด.
  • HRNOTE Thailand.  (2563).  การพัฒนาองค์กร (Organization Development : OD) ให้ก้าวสู่ความสำเร็จ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3ESf63S
  • กิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ.   (2560).  การพัฒนาองค์กรภาครัฐ สู่ความเป็นเลิศตามเกณฑ์ PMQA.  สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3KxDwAV

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general